✨การเล่นเพื่อพัฒนาการคิดเชิงสร้างสรรค์

บทความโดย ครูพลับ

พลับเคยได้เรียนกับอาจารย์ที่คิดค้นเกมและสื่อการเรียนรู้สนุก ๆ ให้เด็กสองท่านจาก MIT ค่ะ ซึ่งทำให้ได้อ่านงานวิจัยเกี่ยวกับ “การเล่น” ค่อนข้างเยอะ เลยอยากจะเขียนเล่าถึงความคิดที่อาจารย์ใช้ในการออกแบบ เพื่อเป็นกรอบคิดสำหรับผู้ปกครองในการเลือกซื้อของเล่น เกม หรือเลือกลงกิจกรรมให้กับเด็ก ๆ ค่ะ

การเล่น

การเล่นของเด็ก ๆ มีหลายแบบ

ซึ่งแต่ละแบบต่างก็มีประโยชน์ต่างกันและนำไปสู่การเรียนรู้ที่ต่างกัน แต่การเรียนรู้ผ่านการเล่นที่พลับและอาจารย์สนใจ คือการเล่นแบบที่พัฒนาเด็ก ๆ ให้ได้กลายเป็น creative thinker หรือ เด็กที่คิดได้อย่างสร้างสรรค์ค่ะ

เพื่อนของอาจารย์พลับ ชื่อ Dr. Marina Bers จาก Tufts University (ท่านมีแลปวิจัยด้านพัฒนาการเด็กผ่านเทคโนโลยีและของเล่น) เสนอว่า เราสามารถแยกการเล่นของเด็ก ๆ ออกได้เป็น 2 ประเภท เป็นแบบ playpen หรือแบบ playground

การเล่น

การเล่นแบบ playground

หรือการเล่นแบบอิสระ มีการออกแบบเพื่อขยายประสบการณ์ของเด็ก ได้สำรวจและสร้างอะไรก็ได้ที่เด็ก ๆ อยากทำ ซึ่งการเล่นแบบนี้ จะช่วยพัฒนาให้เด็ก ๆ มีการคิดได้อย่างสร้างสรรค์มากขึ้นค่ะ

ตัวอย่างของเล่นที่ทุกคนมักจะยกเป็นตัวอย่างคือ Lego เพราะเป็นของเล่นแบบ playground ที่ออกแบบมาเพื่อให้เด็ก ๆ ได้สร้างอะไรก็ได้ที่ต้องการ ในแบบไหนก็ได้ ไม่มีลิมิต

การเล่น

การเล่นแบบ playpen

คือการเล่นตามโจทย์ที่กำหนดให้ ของเล่น เกม หรือประสบการณ์ในรูปแบบนี้มีแนวทางที่ชัดเจน เช่นมี instruction ให้เด็ก ๆ ได้ลองทำตาม แต่มักจะเป็นการเล่นที่อยู่ในกรอบ

เดี๋ยวนี้เด็กหลาย ๆ คนชอบเล่น Lego ที่สร้างของต่าง ๆ ตามแบบที่กล่องให้มา ไม่ว่าจะเป็นปราสาท Hogwarts จากเรื่อง Harry Potter หรือ Millenium Falcon จากเรื่อง Star wars ซึ่งเป็นการเล่นที่สนุก มีความท้าทาย และมีความสุขในการทำ (ไม่ว่าจะผู้ใหญ่หรือเด็ก) แต่การเล่นแบบนี้เป็นตัวอย่างของการเล่น Lego แบบ playpen เพราะเด็ก ๆ ไม่ได้มีโอกาสในการคิด ทดลอง หรือ ประดิษฐ์ เอง การเล่นแบบ playpen ไม่ใช่ว่าไม่ดีนะคะ เพราะการเล่นแบบนี้สามารถช่วยให้ได้เรียนรู้ทักษะและเทคนิคใหม่เพิ่มเติมได้ แต่ถ้าเรามองในมุมว่า ของเล่นแบบนี้ช่วยพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ไหม.. ก็ไม่มากค่ะ สู้แบบ playground ไม่ได้

การเล่น

😊 ดังนั้น

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ คุณครู หรือญาติ ๆ ที่กำลังคิดจะซื้อของเล่น เกม หรือหาประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้เด็ก ๆ และอยากให้น้องได้มีการเล่นแบบที่ฝึกให้เป็น creative thinker อาจจะลองคิดดูนะคะ ว่าสิ่งที่จะซื้อหรือไปทำนั้น จะสร้างโอกาสให้เด็ก ๆ ได้เล่นอย่างอิสระหรือเปล่า เป็นการเล่นปลายเปิดไหม ได้คิดเองว่าอยากสร้างอะไร ได้ใช้จินตนาการและได้ตัดสินใจเองว่าอยากจะสร้างมันขึ้นมาแบบไหนหรือไม่

“Not all types of play is created equal”

Mitch Resnick, MIT Media Lab

บทความโดย

ครูพลับ [นิญตา ลิ้มปิติ]

หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งค่ายใต้ต้นไม้

จบการศึกษาจาก Harvard Graduate School of Education ด้าน Technology, Innovation & Education ณ สหรัฐอเมริกา

การเล่นเพื่อพัฒนาการคิดเชิงสร้างสรรค์