🎨 จะออกแบบเกม/การเล่นที่บ้านยังไงดี ? 😊

บทความโดย ครูแมงปอ

ในเวลาที่ต้องอยู่บ้านนาน ๆ คงไม่มีอะไรสนุกไปกว่าการสร้างเกมสำหรับเล่นในครอบครัวแล้วล่ะค่ะ การมีเกมเล็ก ๆ ที่เป็นเสมือนธรรมเนียมของแต่ละบ้านช่วยให้เด็ก ๆ รับรู้ได้ถึงสัมพันธภาพที่แน่นแฟ้น สร้างความไว้วางใจ ความเชื่อใจ การแสดงออกถึงความเป็นตัวเอง เสริมสร้างพัฒนาการและการใช้ภาษาในการสื่อสารด้วยนะคะ

ทีนี้เราจะทำอย่างไรให้เล่นสนุกขึ้นดี บทความนี้มีคำตอบค่ะ การออกแบบเกมเพื่อการเรียนรู้ให้สนุกในเชิงจิตวิทยานั้น เราสามารถเพิ่มองค์ประกอบได้สองอย่าง คือ

ออกแบบเกม

⌛ 1. เงื่อนไขด้านเวลา (Timer)

การออกแบบการเล่นหรือเกม ผู้ปกครองสามารถเลือกได้ว่า จะเป็นเกมที่เล่นแล้วรู้สึกผ่อนคลายหรือเล่นแล้วรู้สึกตื่นเต้นได้ด้วยเงื่อนไขด้านเวลา ถ้าไม่มีการจับเวลา ค่อย ๆ เล่นโดยการตอบคำถามหรือแก้ไขปัญหาไปทีละส่วน เหมาะจะเป็นเกมที่เล่นไปด้วยกันในครอบครัวเวลาพักผ่อนหรือก่อนนอน สร้างความรู้สึกสงบและพร้อมที่จะเตรียมตัวนอนให้กับเด็ก ๆ ในขณะที่เกมที่มีการจับเวลา สร้างความตื่นเต้นและต้องการการตอบสนองที่รวดเร็ว เหมาะกับจะเล่นในช่วงเวลาสั้น ๆ ก่อนเริ่มบทเรียน สร้างความกระตือรือร้นและความพร้อมในการทำกิจกรรม แต่ถ้าเอาไปเล่นตอนก่อนนอนแล้ว เชื่อได้เลยว่าเด็ก ๆ จะตื่นเต็มตาและร้องขอเล่นต่อไม่ยอมนอนเลยล่ะค่ะ 🙂

ออกแบบเกม

🏆 2. การให้รางวัล (Rewards)

เป็นส่วนหนึ่งของทฤษฎีการเรียนรู้แบบวางเงื่อนไขของ B.F. Skinner ซึ่งสามารถปรับประยุกต์ใช้ในการเรียนรู้รูปแบบต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลายค่ะ เราสามารถให้การเสริมแรงทางบวก (positive reinforcement) ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นของรางวัลที่เป็นสิ่งของเท่านั้นแต่เป็นได้ทั้ง คำชมเชย การกอด หรือคำพูดที่สร้างแรงจูงใจในการทำพฤติกรรมนั้นต่อไป

สำหรับในเกม เมื่อเด็ก ๆ เล่นชนะ ตอบคำถามได้ถูกหรือจดจำภาพได้ก็จะได้รางวัลเป็นสิ่งที่พึงประสงค์ เช่น การไป level ถัดไป การ unlock ของบางอย่างที่จะช่วยเพิ่มค่าพลังให้กับตัวละคร หรือได้คะแนนเพิ่ม เทคนิคที่สำคัญคือในเด็กเล็กที่ยังไม่เข้าใจเรื่องตัวเลข จำนวน หรือปริมาณ อาจจะไม่ได้รู้สึกว่าคะแนนที่เพิ่มคือรางวัลหรือสิ่งที่พึงประสงค์ ผู้ปกครองอย่าลืมใส่ item ที่เป็นรูปธรรม เห็นภาพชัดและเข้าใจง่าย อย่างเช่น sticker หรือภาพการ์ตูนน่ารัก ๆ เข้าไปแทนจะช่วยจูงใจให้เล่นต่อมากขึ้นค่ะ

บทความโดย

ครูแมงปอ [พิมพนิต คอนดี]

หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งค่ายใต้ต้นไม้

จบปริญญาเอกด้านจิตวิทยาการปรึกษา (Counseling Psychology) โดยทำวิจัยเกี่ยวกับการใช้ศิลปะเป็นสื่อเพื่อดูแลจิตใจและลดภาวะซึมเศร้า

ออกแบบเกมเล่นที่บ้าน