🎨 The Creative Learning Spiral; การเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ (2)
บทความโดย ครูแมงปอ
ภาพประกอบของ Dr. Mitchel Resnick วาดโดย ครูแมงปอ
การเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ช่วงอนุบาลหรืออาจจะก่อนหน้านั้นก็ได้นะคะ
ลองนึกถึงเวลาเด็ก ๆ ปั้นดินน้ำมัน พวกเขาจะนั่งอยู่เป็นเวลานาน ค่อย ๆ ปั้นให้เป็นรูปร่าง ต่อเติมไปทีละชิ้นทีละชิ้น แต่ละคนก็เล่าเรื่องราวแต่งแต้มสีสันให้กับชิ้นงาน หากมันพังลงมาก็ค่อย ๆ ต่อมันขึ้นมาใหม่ ในแต่ละครั้งที่ทำเด็ก ๆ จะพัฒนาทักษะและความสามารถไปพร้อมกัน
การเล่นส่งเสริมพัฒนาการของเด็กในหลาย ๆ ด้าน ทั้งการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กในมือ จินตนาการ การสื่อสารและใช้ภาษาเล่าเรื่อง ฯลฯ
กระบวนการสร้างสรรค์หรือ creative process
ก็เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติระหว่างการเล่นของเด็ก ๆ เหมือนกันค่ะ Dr. Mitchel Resnick ได้สังเคราะห์กระบวนการสร้างสรรค์เพื่อการเรียนรู้ขึ้นมา เรียกว่า Creative Learning Spiral ซึ่งในกระบวนการนี้ประกอบไปด้วย
Imagine: จินตนาการ ยกตัวอย่างเช่น เด็กเริ่มต้นจินตนาการถึงปราสาทเจ้าหญิง จากนั้นก็จะวาดภาพถึงคนที่อยู่ในปราสาท รายละเอียดต่าง ๆ ที่ประดับอยู่ภายในหรือนอกปราสาท
Create: สร้าง เพราะแค่เพียงจินตนาการยังไม่เพียงพอในการเล่น …เด็ก ๆ จะสร้างปราสาทขึ้นมาจากดินน้ำมัน แป้งโดว์ บลอคไม้ กระดาษหรือวัสดุต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวพวกเขา
Play: เล่น เด็ก ๆ จะทดลองและทดสอบสิ่งที่สร้างขึ้นในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการพยายามสร้างปราสาทให้สูงยิ่งขึ้น เล่าเรื่องราวใหม่ ๆ หรือตกแต่งให้สวยงาม
Share: แบ่งปัน เมื่อเด็ก ๆ มาเล่นด้วยกัน เรื่องราวและการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ก็จะยิ่งหลากหลาย
Reflect: สะท้อนคิด เมื่อปราสาทที่สร้างขึ้นล้มครืนลง หากคุณพ่อคุณแม่หรือคุณครูได้เข้ามาช่วยสะท้อนความคิด หาเหตุผลว่าทำไมปราสาทถึงพังลง ? ถ้าสร้างใหม่จะทำให้ปราสาทมั่นคงขึ้นได้อย่างไรบ้าง ? และเอื้อให้เด็กๆได้ทดลองสร้างปราสาทที่มั่นคงแข็งแรงขึ้นกว่าเดิมจากการคิดแก้ปัญหาของเขาเอง
Imagine จากประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้ เด็กจะเริ่มจินตนาการครั้งใหม่ในทิศทางใหม่
💭 สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่และคุณครูจะช่วยให้การเรียนรู้เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
คือการช่วยสะท้อนความคิดของเด็ก ๆ ให้เขาสร้างสรรค์และเรียนรู้ได้มากขึ้น เพราะกระบวนการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์นี้จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในช่วงวัยอนุบาล ซึ่งจะเป็นการพัฒนาเด็ก ๆ ให้กลายเป็นนักคิดสร้างสรรค์หรือ Creative thinker ได้ในอนาคตค่ะ
บทความโดย
ครูแมงปอ [พิมพนิต คอนดี]
หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งค่ายใต้ต้นไม้
จบปริญญาเอกด้านจิตวิทยาการปรึกษา (Counseling Psychology) โดยทำวิจัยเกี่ยวกับการใช้ศิลปะเป็นสื่อเพื่อดูแลจิตใจและลดภาวะซึมเศร้า
อ้างอิง
Resnick, M. (2017). Lifelong Kindergarten: Cultivating Creativity through Projects, Passions, Peers, and Play. MIT Press.