🤖3DPrinter X Nature🌳

“มาเรียนออกแบบของเล่นเพื่อออกผจญภัยในธรรมชาติกัน!”

บทความโดยครูปั๊ม

จากประสบการณ์กว่า 10 ปี ที่ผมได้ออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้ผ่านการออกแบบและการประดิษฐ์ เพื่อเด็กๆ ตั้งแต่รุ่นอายุ 6 ปีเป็นต้นไป ในหลายครั้งผลงานชั้นเยี่ยมของเด็กๆหลายคนมักสิ้นสุดอยู่เพียงในห้อง FABLAB เนื่องด้วยสถานที่ตั้งห้อง LAB หลายที่จะตั้งอยู่ในอาคารสูง หรือ ตั้งอยู่ใจกลางเมืองใหญ่ ทำให้มีข้อจำกัดหลายประการที่เด็กๆจะสามารถนำผลงานออกแบบของตนเองออกมาเล่นและทดลองได้อย่างเต็มที่

จากโอกาสที่ได้สอนและพาเด็กๆออกผจญภัยในค่ายใต้ต้นไม้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ผมได้เห็นจินตนาการของเด็กๆพรั่งพรูออกมาอย่างไม่มีที่สิ้นสุดเมื่อพวกเขาได้เล่นในธรรมชาติอย่างเต็มที่ จินตนาการนั้นมักเกิดจากสถานการณ์จริงที่พวกเขาต้องคิดแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า อย่างเช่นการเป็นการพยายามเก็บสมบัติที่อยู่ไกลเกินเอื้อม จึงต้องช่วยกันออกแบบ เครื่องมือพิเศษสำหรับภารกิจตรงหน้าเท่านั้น !

Design Thinking

พื้นฐานสำคัญสำหรับการเรียนรู้กระบวนการออกแบบในวัยเยาว์คือ Design Thinking ที่มีการประยุกต์ใช้กันอย่างแพร่หลาย จากงานวิจัยหลายฉบับส่วนที่สำคัญที่สุดในกระบวนการคือการได้ทดลองเพื่อหาข้อผิดพลาด แก้ไข และทำซ้ำ จนเกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ในหลายกรณีที่งานออกแบบนั้นต้องสิ้นสุดอยู่ในห้อง LAB จะพลาดโอกาสเรียนรู้ส่วนที่สำคัญไปอย่างน่าเสียดาย จึงได้เกิดไอเดียที่จะผสานทั้งการเรียนรู้ผ่าน Technology และ การเล่นในธรรมชาติเข้าด้วยกัน ออกมาเป็นหลักสูตรการผจญภัยใหม่ที่จะเกิดขึ้นเฉพาะที่ค่ายใต้ต้นไม้!

เรียนออกแบบ

Empathize Define and Then Ideate!

ขั้นตอนแรกของการออกแบบแน่นอนคือการวางแผน ไอเดียที่ดีมักเกิดจากประสบการณ์จริงที่เด็กๆเคยได้ผ่านมา ยกตัวอย่างในกรณีชิ้นงานนี้ ผู้ออกแบบคือน้องนอร์ธนักผจญภัยผู้เชี่ยวชาญที่ค่ายใต้ต้นไม้ น้องนอร์ธชอบการล่าสมบัติ แต่ในบางครั้งสมบัติล้ำค่ากลับไปอยู่ในที่ ที่ไม่สามารถเอื้อมถึงได้ อย่างเช่น กลางเกาะในน้ำ บนต้นไม้ ในโคลน หรือฝังลึกอยู่ใต้ดิน

น้องนอร์ธเลยได้ออกแบบอุปกรณ์ขุดชนิดพิเศษที่มี 3 ง่าม ตรงกลางไว้ขุดและตัก ส่วนด้านข้างมีไว้ถางหญ้าหรือใบไม้ที่ปกคลุมพื้น ด้ามต้องยาวเพื่อที่จะสามารถเอื้อมถึงได้ทุกพื้นที่แม้จะอยู่ห่างไกล สุดท้ายหลังจากได้สมบัติมาแล้วเด็กๆมักจะไม่มีที่เก็บ น้องเลยได้ออกแบบที่เก็บสมบัติไว้สุดปลายด้าม ถือเป็นชิ้นงานที่เกิดจากความเข้าใจในภารกิจนั้นๆอย่างแท้จริง

เรียนออกแบบ

Mockups from Scratch.

เมื่อไอเดียของพวกเราชัดเจนแล้ว ขั้นต่อไปมาเริ่มสร้างชิ้นงานต้นแบบด้วยวัสดุอย่างง่ายกัน ประโยชน์ของ Mockups คือเพื่อทดสอบความเป็นไปได้ของไอเดีย โดยจะทำออกมาเป็นขนาด 1 ต่อ 1 และเน้นใช้วัสดุที่หาได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็น ขวดน้ำ ฟีเจอร์บอร์ด แท่งไม้ หรือกระดาษ ที่สำคัญคือความมุ่งมั่นเพื่อพยายามประดิษฐ์ออกมาให้ใกล้กับแผนที่วางไว้ให้ได้มากที่สุด

เรียนออกแบบ

First time Testing!

การนำชิ้นงานออกไปเล่นในสถานการณ์จริง เป็นหนึ่งในวิธีการทดลองที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ตอนเลือกวัสดุพวกเราตั้งใจว่าจะใช้วัสดุที่สามารถใช้ได้ทุกสถานการณ์ ทั้งในน้ำและบนบก ชิ้นงาน Mockups สามารถตักของจากพื้นโคลนขึ้นมาได้ แต่อาจจะยังกระโดกกระเดก เนื่องจากความบางของขวาดพลาสติก ความยาวยังไม่สามารถเอื้อมถึงพื้นน้ำได้เท่าที่ควร และ ง่ามด้านข้างยึดไม่แน่นยังหมุนไปมา

เรียนออกแบบ

Let’s Make 3D

หลังจากได้ข้อมูลจากการทดลองจริงครบถ้วนแล้ว พวกเราจึงกลับมาออกแบบใน Maker Empire Software 3D ที่สร้างมาสำหรับเด็กๆโดยเฉพาะ สามารถเลือกรูปทรงพื้นฐานมาปรับความกว้างยาวสูง ประกอบกันออกมาเป็นชิ้นงานตามจินตนาการได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

Second Time Testing.

การทดลองครั้งที่ 2 มีพัฒนาการขึ้นอย่างก้าวกระโดดเนื่องจากชิ้นงานพลาสติกจาก 3D Printer มีความแข็งแรง สามารถขุดดิน ถางหญา โดนน้ำได้ แต่ครั้งนี้เราก็พบปัญหาใหม่อีกครั้ง เนื่องจากด้านปลายทื่อเป็นเหลี่ยมทำให้ไม่สามารถขุดดินได้ลึก และเมื่อตักเจอสมบัติ จะกระดอนออกไปทางด้านหลังของเครื่องมือ

Repeat and Develop Prototype.

จากข้อมูลเราได้กลับมาพัฒนาชิ้นงานในขั้นสุดท้าย ซึ่งจะสมูบรณ์แบบอย่างแน่นอน ชิ้นงานนี้มีขนาดใหญ่ขึ้น และมีช่องสำหรับกักเก็บสมบัติที่ตัดขึ้นมาได้ไม่ให้กระดอนออกไปในด้านอื่นๆ

การเรียนรู้และทำซ้ำช่วยให้เด็กๆมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ปัญหาที่ได้พบเจอ และสามารถสร้างสรรค์แนวทางการแก้ปัญหาได้อย่างตรงประเด็น ชิ้นงานทั้ง 3 ของพวกเรามีพัฒนาการขึ้นอย่างก้าวกระโดดทุกครั้งและผมเองก็มั่นใจว่า ถ้าเราได้พัฒนาชิ้นงานต่อไปในขั้นถัดๆไป จะมีไอเดียที่น่าสนใจเพิ่มเติมเข้ามาอีกแน่นอน

Adventure Time!

เมื่อเครื่องมือของเราเสร็จสมบูรณ์ตามแผนเรียบร้อยแล้ว ก็ถึงเวลาออกไปผจญภัยให้สนุกกัน เด็กๆที่ได้ใช้เวลาในการพัฒนาชิ้นงานพบเจอ แก้ไขปัญหาและทำซ้ำ จะรู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างมากเมื่อชิ้นงานของเขาสามารถใช้ได้จริง มีประโยชน์ต่อภารกิจที่ได้ตั้งไว้ น้องนอร์ธบอกคุณครูว่า ต่อไปนี้ถ้ามีโอกาสมาค่ายจะนำอุปกรณ์ชิ้นนี้มาทุกครั้งเลยครับ!

บทความโดย

ครูปั๊ม [แสงอรุณ เจียมสวัสดิ์]

นักออกแบบอุตสาหกรรม จาก KMUTT และ Kyoto Institute of Technology

ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้ออกแบบกิจกรรมค่ายใต้ต้นไม้

เรียนออกแบบ 3DPrinter X Nature